ทรู ไอดีซี ชูคลาวด์ สร้างการเติบโตยั่งยืน

20 ต.ค. 2560

การใช้งานเทคโนโลยีเพื่อรองรับดิจิทัล 4.0 นั้น การลงทุนของภาคธุรกิจไม่ได้มองแค่การลงทุนเองหรือเลือกซื้อบริการเป็นชิ้นเพียงอย่างเดียว แต่ปรับมาเป็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น เพื่อให้การทำงานเชิงธุรกิจเชื่อมโยงกันได้ ไม่ใช่แยกกันทำงานแบบตัวใครตัวมัน


ฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ หรือ ทรู ไอดีซี ผู้นำด้านดาต้าเซ็นเตอร์และผู้ให้บริการคลาวด์เต็มรูปแบบครบวงจร กล่าวว่า ในยุคนี้ภาคธุรกิจต้องการบริการที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันได้ทุกรูปแบบ ซึ่งบริษัทมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่หลายรายอย่าง อะเมซอนเว็บเซอร์วิส ไมโครซอฟท์และกูเกิล เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกในการใช้งานคลาวด์ของผู้ให้บริการเหล่านี้

การใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ของธุรกิจในไทยยังมีการเติบโตกว่าตลาดอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่า 80-90% ของธุรกิจไทยยังสนใจการเก็บข้อมูลโดยให้ผู้ให้บริการเป็นคนดูแล ดีกว่าลงทุนเอง เพื่อลดต้นทุนในการบริหารจัดการ ค่าไฟ ค่าสถานที่ ค่าพนักงาน และธุรกิจในยุคนี้ที่ไม่ได้มีข้อมูลที่จำเป็นต้องเก็บไว้ภายในองค์กร การใช้เอาต์ซอร์สจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า ด้านธุรกิจของบริษัท หากเป็นบริการที่เกี่ยวกับคลาวด์พบว่าโตขึ้น 100% ต่อเนื่องทุกปี ยกตัวอย่าง บริการคลาวด์ของอะเมซอนเว็บเซอร์วิสโต 400-500% เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพเลือกใช้งานจำนวนมาก แต่ปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษก็ยังเป็นปัจจัยหลักที่ลูกค้าจะเลือกใช้งาน ซึ่งมีหลายธุรกิจที่หันมาใช้งานคลาวด์แบบ 100% แล้ว จากการแข่งขันของผู้ให้บริการคลาวด์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ทรู ไอดีซีต้องมีคุณภาพ มีมาตรฐานระดับโลกและการบริการที่ดี เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่มีมาตรฐาน ISO มากที่สุดในไทย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจและเป็นตัวเลือกสำหรับตัดสินใจเลือกใช้งานได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐก็มีการปรับมาใช้งานดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้คลาวด์ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้บริการประชาชน ขณะที่ฐนสรณ์เองก็พยายามไปร่วมกิจกรรมในการให้ความรู้ด้านคลาวด์มากขึ้น เช่น งานคลาวด์ทอล์ก เพื่อสนับสนุนภาครัฐในการแชร์ประสบการณ์และให้ความรู้แก่คนจำนวนมากได้เข้าใจว่าทำไมถึงต้องใช้งานคลาวด์ และถ้าไม่ปรับตัวจะเป็นอย่างไร


ก่อนหน้านี้ ช่วงที่มีการพูดถึงเทรนด์คลาวด์ใหม่ๆ หลายผู้บริหารมองว่าอีกสัก 2-3 ปี คนจะเริ่มใช้งานคลาวด์ แต่เมื่อมีคนเข้าใจเรื่องเทรนด์เทคโนโลยีอย่างคลาวด์ก็สร้างโอกาสโตตั้งแต่ปีแรก ผู้บริหารหลายองค์กรมองว่าคลาวด์จะมาช่วยเรื่องธุรกิจอย่างไรให้ประหยัด ลดต้นทุนและคุ้มค่า ทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และการเลือกใช้บริการคลาวด์จากผู้ให้บริการต่างประเทศ การบริหารจัดการระบบให้ราบรื่น

แต่ปัญหาใหญ่ที่ทุกหน่วยงานและองค์กรมองไปในทิศทางเดียวกัน คือ จะหนุนคนรุ่นใหม่ให้รู้ทันเทคโนโลยีในรูปแบบใด โดยทรู ไอดีซี ขายโครมบุ๊กส์ในกลุ่มการศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีอุปกรณ์เข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้สะดวกและราคาไม่แพง เพียงนำบัตรนักเรียนมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จะลดราคาจาก 8,900 บาท เหลือ 3,990 บาท หรือซื้อผ่านเว็บไซต์ we mall ก็ได้ ขณะเดียวกัน บริษัทยังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นในการให้บริการคลาวด์ เพื่อเก็บข้อมูลด้านการศึกษาและใช้งานได้ตามความต้องการ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลและตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้ทันและไม่ได้มองว่าเป็นการแข่งขัน แต่เป็นการช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ได้ไวขึ้น

“เด็กไทยต้องเก่งและเร็ว ถึงจะชนะ และตามทันโลก”  ฐนสรณ์ กล่าว


หลังจากที่ฐนสรณ์มีโอกาสเข้าไปเป็นโค้ชให้ความรู้ในกลุ่มสตาร์ทอัพและหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ในการแชร์ประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้สตาร์ทอัพ มีความคิดเปิดกว้างมากกว่าแค่ความรู้ในกรอบแบบเดิมๆ พบว่า ไม่อยากให้สตาร์ทอัพหรือธุรกิจรุ่นใหม่กังวลเรื่องทำธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่อยากให้มองว่า ถ้าล้มเร็วก็ต้องลุกให้เร็ว เพราะย่อมได้ประสบการณ์มาแล้ว ต้องรู้ว่าอะไรควรและไม่ควรทำ

เช่นเดียวกับธุรกิจยุคเก่าที่ไม่ควรมองว่าเทรนด์เทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัพตัวเอง และไม่ยอมปรับตัว เพราะไม่ว่าธุรกิจใดถ้าไม่นำเทคโนโลยีไปใช้ย่อมเสียโอกาส

เทคโนโลยีในอนาคตที่มองว่าจะเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจในไทย ไม่ว่าจะเป็น โรบอต แอพพลิเคชั่น ไบโอเมตริกซ์ เฮลท์แคร์ และ ฟินเทคสิ่งเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ทำให้ธุรกิจต้องวางแผนและรู้จักปรับใช้งานเทรนด์ เทคโนโลยีของอนาคตให้เข้ากับธุรกิจอย่างเหมาะสม

ขณะที่การลงทุนคลาวด์จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ปัจจัยที่จะมาช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีได้เร็วนั้น มาจากพฤติกรรมของคน แรงขับเคลื่อน นวัตกรรมและการเชื่อมต่อที่พร้อมให้คนเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นก็อยู่ที่การมองถึงความสำคัญในการลงทุน

ปัญหาสำคัญอีกเรื่องคือ เทคโนโลยีเดินหน้าเร็วกว่ากฎหมาย ทำให้ความพร้อมในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีหลายอย่างต้องรอ หากเรื่องนี้ยังไม่สามารถตามทันก็น่าเสียดาย เพราะยุคสมัยจะเปลี่ยนเร็วมาก แต่ก็เห็นความพยายามของทุกหน่วยงานที่จะปรับตัวให้ทัน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังต้องเรียนรู้อีกมาก เพราะไม่ใช่ผู้ผลิตนวัตกรรม จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องรายละเอียดหลายๆ อย่าง

การปรับตัวของบุคลากรในหน่วยงานราชการไม่ได้ช้า แต่ขั้นตอนในการทำงานอาจต้องรอเพราะการเปลี่ยนทันทีเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้ามีตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของหน่วยงานสักครั้ง ครั้งต่อไปจะเริ่มง่าย จะเห็น ได้จากหลายหน่วยงานภาครัฐที่เริ่มมีความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการทำงานมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี

สิ่งที่หลายคนในแวดวงไอทีอยากให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการหรือปรับข้อกฎหมายให้ทันต่อการทำงานก่อน เช่น ภาษีแรงงาน วีซ่าสำหรับการจ้างงานคนต่างชาติและเร่งสร้างบุคลากรให้ทัน เพราะทั้งสามเรื่องนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้

ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่เดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีได้เร็ว โดยใช้วิธีดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานและเอื้อประโยชน์ให้ทั้งด้านรายได้ สวัสดิการ การใช้ชีวิต ทำให้เกิดการถ่ายทอดความสามารถให้คนในประเทศได้เร็ว และยั่งยืน รวมทั้งสามารถสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อมาต่อยอดการทำงาน

ประเทศไทยมีการใช้งานเทคโนโลยีเร็วมาก แต่จะเป็นกลุ่มคนที่ใช้งานเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่พอเป็นเรื่องของการทำงานอาจจะยังปรับรูปแบบยาก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าถ้าผลักดันและลงมือทำอย่างแท้จริง การที่ประเทศไทยจะเดินหน้าด้วยนวัตกรรมก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560