4 แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับระบบคลาวด์สาธารณะในอนาคต โดย Gartner

30 ส.ค. 2564

Gartner เปิดเผยว่าค่าใช้บริการระบบคลาวด์สาธารณะจากผู้ใช้ทั่วโลกอาจพุ่งสูงจนทะลุ 480 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2022 โดยคาดการณ์ว่าจะเกิด 4 แนวโน้มที่สำคัญต่อระบบคลาวด์สาธารณะในอนาคต ดังนี้

1. มีการใช้บริการคลาวด์อย่างแพร่หลาย 

ปัจจุบัน ระบบคลาวด์เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งหมายรวมถึงธุรกิจประเภทที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว (Composable Business) ทั้งนี้ Hybrid Cloud, Multicloud และ Edge ก็กำลังเติบโตพร้อมนำไปสู่โมเดลคลาวด์แบบกระจายศูนย์ในรูปแบบใหม่ๆ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย เช่น 5G, R16 และ R17 ที่นำระบบคลาวด์ไปประยุกต์ใช้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นบริการ mobile banking ที่นิยมใช้กันอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงบริการด้านสุขภาพที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมในอนาคตด้วย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการนำระบบคลาวด์ไปประยุกต์ใช้จะแพร่หลายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ซึ่ง Gartner คาดการณ์ไว้ว่าค่าใช้บริการระบบคลาวด์สาธารณะจะสูงถึง 396 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2021 และเติบโตขึ้น 21.7% จนถึง 482 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2022 นอกจากนี้ ค่าใช้บริการระบบคลาวด์สาธารณะในปี 2021 ที่เคยน้อยกว่า 17% ของค่าใช้จ่ายด้าน IT ทั้งหมดขององค์กรต่างๆ ก็อาจเพิ่มขึ้นถึงกว่า 45% ได้ในปี 2026

2. มีการพัฒนาระบบนิเวศคลาวด์ระดับภูมิภาค 

เมื่อระบบนิเวศคลาวด์ (Cloud Ecosystem) ได้แพร่หลายไปยังภูมิภาคต่างๆแล้ว ยังมีการพัฒนาบริการข้อมูลระบบนิเวศคลาวด์แบบแนวตั้ง (Vertical Cloud Ecosystem) หรือการพัฒนาระบบแบบเจาะลึกลงไปอีกด้วย ทั้งนี้ ภาครัฐและกลุ่มบริษัทด้านการเงินกำลังร่วมมือกับผู้ให้บริการคลาวด์ในต่างประเทศเพื่อลดการล็อคอินที่สำคัญและหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น
ในประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาหรือดูแลรักษาระบบนิเวศได้เองจะทำได้เพียงใช้แพลตฟอร์มจากนอกประเทศเท่านั้น และมีสิทธิ์ควบคุมระบบอย่างจำกัด ทำให้บรรดานักการเมือง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และบุคคลที่เกี่ยวข้องในประเทศเหล่านี้ตระหนักถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมือทางดิจิทัลอย่าง GAIA-X ของสหภาพยุโรป 

3. ความยั่งยืนแและระบบคลาวด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Carbon-Intelligent Cloud)

ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ Gartner CEO Survey ประจำปี 2021 เกือบครึ่งหนึ่งเชื่อว่าการร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะมีผลต่อธุรกิจของพวกเขาอย่างมาก ดังนั้น ผู้ให้บริการคลาวด์จึงเข้ามามีบาทในการสนับสนุนแนวคิดนี้ ด้วยการให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และเป้าหมายนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงาน (Infrastructure and Operations: I&O)

4. โครงสร้างพื้นฐานแบบตั้งโปรแกรมอัตโนมัติได้จากผู้ให้บริการ CIPS 

สิ่งที่ Gartner คาดหวังจากผู้ให้บริการ CIPS รายใหญ่ระดับโลกคือบริการคลาวด์ที่ใช้งานได้สะดวก โดยนำระบบจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเทคโนโลยี AI และ ML มาประยุกต์ใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงาน (I&O) แบบเดิมของระบบคลาวด์สาธารณะไปได้อย่างรวดเร็ว

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.gartner.com/en/newsroom/press-releases/2021-08-02-gartner-says-four-trends-are-shaping-the-future-of-public-cloud 

ก่อนหน้า

ถัดไป