เคลียร์ทุกข้อสงสัย ทำไมดาต้าเซ็นเตอร์ถึงมาแรงในยุค Digital & AI
09 เม.ย. 2568 //= substr($strYear,2,2)?>
เมื่อดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ได้กลายมาเป็น Buzz Word ที่มาพร้อมกับยุค AI ครองเมือง ประกอบกับการที่มีผู้เล่นด้านเทคโนโลยีระดับโลกตบเท้าเข้ามาลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์กันในประเทศไทยและแถบเอเชียตะวันออกฉียงใต้กันมากขึ้น ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าดาต้าเซ็นเตอร์หรือศูนย์ข้อมูลนั้นคืออะไร วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักโลกของดาต้าเซ็นเตอร์กันแบบ 360 องศา
แท้จริงแล้วดาต้าเซ็นเตอร์คืออะไร?
ดาต้าเซ็นเตอร์คือศูนย์กลางหรือสถานที่ในการจัดเก็บ ประมวลผล และบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กรต่าง ๆ โดยมีระบบสนับสนุน (Facility) ที่ออกแบบมาให้รองรับการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงอย่างมีเสถียรภาพ ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ประกอบด้วยอุปกรณ์ด้านไอที เช่น คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ทั้งแบบ CPU (Central Processing Unit) และแบบ GPU (Central Processing Unit) สำหรับประมวลผลข้อมูล อุปกรณ์ Storage สำหรับจัดเก็บข้อมูล อุปกรณ์เครือข่ายเน็ตเวิร์กเพื่อเชื่อมต่อการใช้งานของระบบต่าง ๆ แบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีระบบวิศวกรรมที่มาช่วยสนับสนุนให้อุปกรณ์ด้านไอทีสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น เช่น ระบบไฟฟ้าหลักและไฟฟ้าสำรอง ระบบควบคุมอุณหภูมิจัดการความร้อน ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อการใช้งานแบบออนไลน์ และดาต้าเซ็นเตอร์มักมีมาตรฐานสากล เช่น ISO, Uptime Institute หรือ TIA เพื่อรับรองความปลอดภัยและการันตีความน่าเชื่อถือในการให้บริการ
ในปัจจุบันดาต้าเซ็นเตอร์มีการวัดขนาดหรือความสามารถในการรองรับการใช้งาน ด้วยหน่วยที่เรียกว่า “เมกะวัตต์ (MW)” ซึ่งหมายถึงปริมาณกำลังไฟฟ้าที่สามารถจ่ายให้กับอุปกรณ์ไอที เช่น เซิร์ฟเวอร์ ระบบจัดเก็บข้อมูล และอุปกรณ์เครือข่าย ยิ่งดาต้าเซ็นเตอร์มีขนาดใหญ่ (เช่น 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป) ยิ่งสามารถรองรับการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก รองรับเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์คอมพิวติ้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปสามารถจำแนกขนาดของดาต้าเซ็นเตอร์ได้ดังนี้:
- ขนาดเล็ก: ต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ – รองรับการใช้งานเฉพาะกิจหรือองค์กรขนาดเล็ก
- ขนาดกลาง: 1–5 เมกะวัตต์ – เหมาะสำหรับองค์กรขนาดกลางหรือหลายหน่วยงาน
- ขนาดใหญ่: 5–20 เมกะวัตต์ – รองรับองค์กรขนาดใหญ่หรือผู้ให้บริการคลาวด์ขนาดเล็ก
- ไฮเปอร์สเกล: มากกว่า 20 เมกะวัตต์ – รองรับเทคโนโลยีระดับโลก เช่น AI คลาวด์ และ Big Data
เมื่อดาต้าเซ็นเตอร์กลายเป็นธุรกิจจนมาติดเทรนด์โลก
สำหรับองค์กรขนาดใหญ่การมีดาต้าเซ็นเตอร์เป็นของตนเองนับเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่มักมีดาต้าเซ็นเตอร์ตั้งอยู่ในหลายประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่เข้ามาช่วยเหลือองค์กรที่ยังขาดความพร้อมหรือความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยตนเอง ผู้ให้บริการจะก่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์และจัดเตรียมระบบสนับสนุนด้านวิศวกรรม โดยจะเปิดให้ลูกค้าสามารถเช่าพื้นที่เพื่อวางอุปกรณ์ไอทีที่รันระบบสำคัญต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งเรียกว่าบริการ Colocation โดยลูกค้าไม่ต้องลงทุนสร้างเอง สามารถวางระบบได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องกังวลถึงการบริหารจัดการระบบสนับสนุนเนื่องจากผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ทั้งหมด จากความต้องการด้านดิจิทัล การใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์และแพลตฟอร์ม AI ที่เพิ่มขึ้นสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ดาต้าเซ็นเตอร์ยิ่งเป็นที่ต้องการเพราะเป็นรากฐานรองรับระบบเหล่านั้น ลูกค้าของดาต้าเซ็นเตอร์จึงมีความหลากหลาย ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งลูกค้าในประเทศและลูกค้าจากต่างประเทศ โดยแบ่งออกได้เป็นกลุ่มหลัก ดังนี้
- องค์กรขนาดใหญ่ (Enterprise) – เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทค้าปลีก และธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งต้องการความปลอดภัยและความต่อเนื่องในการบริหารจัดการข้อมูล
- ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลก (Hyperscale Cloud Providers) – เช่น Google Cloud, Microsoft Azure, และ Alibaba Cloud ซึ่งต้องการดาต้าเซ็นเตอร์คุณภาพสูงในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าในระดับภูมิภาค
- ภาครัฐและหน่วยงานราชการ – ที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบาย Digital Government
- บริษัทเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์ – เช่น บริษัทด้าน AI, อีคอมเมิร์ซ, เกมออนไลน์, คอนเทนต์สตรีมมิ่ง และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งต้องการระบบประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความเร็วสูง
- ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต (Telco & ISP) – ซึ่งใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ในการวางโครงข่ายและเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศ
ดาต้าเซ็นเตอร์กับชีวิตประจำวัน
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ดีจะช่วยให้ชีวิตประจำวันของเราสะดวกขึ้นอย่างมาก เพราะดาต้าเซ็นเตอร์เป็นเบื้องหลังของบริการดิจิทัล (Digital Technology Backbone) ที่เราใช้อยู่ทุกวัน เช่น
- การใช้งานแอปพลิเคชันและอินเทอร์เน็ต: ทุกครั้งที่คุณเปิด Facebook, Instagram, LINE, หรือดู YouTube ข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บและประมวลผลในดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อให้โหลดเร็ว ไม่สะดุด
- การทำธุรกรรมออนไลน์: การโอนเงินผ่านแอปธนาคาร ชำระค่าสินค้า หรือใช้ Mobile Banking ทุกอย่างต้องอาศัยดาต้าเซ็นเตอร์ในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย
- การใช้งานบริการแผนที่และการเดินทาง: Google Maps, Grab หรือแอปพลิเคชันบริการการเดินทางด้วยรถประเภทต่าง ๆ ต้องใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ในการคำนวณเส้นทางแบบเรียลไทม์ และแสดงผลแม่นยำ
- การช้อปปิ้งออนไลน์: ทุกครั้งที่คุณสั่งของผ่าน Lazada, Shopee หรือร้านค้าออนไลน์ ดาต้าเซ็นเตอร์คือเบื้องหลังที่ทำให้ระบบตะกร้าสินค้า การจ่ายเงิน และระบบโลจิสติกส์ทำงานได้อย่างราบรื่น
- การทำงานแบบ Hybrid / Work from Home: การใช้งาน Microsoft 365, Google Workspace, Zoom, Teams หรือระบบคลาวด์ของบริษัท ล้วนเชื่อมต่อกับดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อให้คุณทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา
- การแนะนำคอนเทนต์ด้วยระบบ AI: Netflix, Spotify หรือแม้แต่ระบบแชตบอตต่าง ๆ ล้วนใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ในการประมวลผล AI เพื่อแนะนำหนัง เพลง หรือสินค้าที่คุณอาจสนใจ
- ระบบ Generative AI และ Agentic AI: การใช้งาน ChatGPT, Copilot, หรือระบบ AI ผู้ช่วยต่าง ๆ ที่สามารถสร้างข้อความ รูปภาพ โค้ด หรือวางแผนงานได้แบบอัตโนมัติ ล้วนต้องอาศัยพลังประมวลผลสูงจากดาต้าเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามแบบเรียลไทม์ หรือให้คำแนะนำที่ตรงกับบริบทผู้ใช้แต่ละคน
ดาต้าเซ็นเตอร์อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วมันคือหัวใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเล่นโซเชียล การโอนเงิน ซื้อของออนไลน์ ไปจนถึงการใช้ AI หรือผู้ช่วยอัจฉริยะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ภาครัฐ หรือบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ต่างก็พึ่งพาดาต้าเซ็นเตอร์ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลให้ทำงานได้ตลอดเวลาอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ดาต้าเซ็นเตอร์จึงไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่เป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวก ง่าย และเชื่อมต่อกันได้ทุกที่ทุกเวลา